แบงก์-น็อนแบงก์ขยายฐานลูกค้าสินเชื่อดิจิทัลปีเสือชิงตลาดคึกคัก แข่งออกผลิตภัณฑ์การเงินปล่อยกู้ลูกค้ากลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อปกติ “ไทยพาณิชย์” ตั้งเป้าโต 100% “แบงก์กรุงเทพ” อยู่เฉยไม่ได้ โดดร่วมวงปล่อยกู้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์-ธุรกิจรายเล็ก “LINE BK” ชี้สมรภูมิเดือด หน้าเก่า-หน้าใหม่ลงสนามปล่อยกู้ผ่านแอปพรึ่บ 7 ยักษ์ธุรกิจกำใบอนุญาตเบียดชิงลูกค้า

ดร.ชาลี อัศวะธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน digital banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลในปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด สังเกตได้จากจำนวนบริษัทที่ขอใบอนุญาตสินเชื่อบุคคลดิจิทัล (digital P loan) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ตอนนี้มีอยู่ 7 บริษัท ซึ่งในช่วงที่ผ่านมายังแอ็กทีฟไม่มาก แต่เชื่อว่าปีนี้น่าจะมีความพร้อมมากขึ้น และเริ่มมีการแข่งขันกันอย่างชัดเจน

โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ จะเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ของธนาคารและผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) เพื่อการขยายฐานลูกค้าออกไปจากลูกค้ากลุ่มเดิม ซึ่งการแข่งขันจะขึ้นอยู่กับความสามารถการใช้ข้อมูลแบบใหม่ (alternative data) มาวิเคราะห์เพื่อพิจารณาสินเชื่อ หรือออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้มากที่สุด

SCB ตั้งเป้าสินเชื่อโต 100%
ธนาคารตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ digital lending เติบโต 100% โดยใช้ความสามารถการวิเคราะห์ข้อมูลแบบใหม่ และจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงทำให้ขั้นตอนการสมัครขอสินเชื่อผ่าน SCB EASY มีความสะดวก และการสมัครสินเชื่อแบบมีหลักประกันให้มีความรวดเร็วมากขึ้น แต่ยังเป็นรูปแบบ O2O (online to office) ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเป็นลูกค้าปัจจุบันของธนาคารที่ไม่ได้รับสินเชื่อของธนาคาร และเน้นลูกค้ากลุ่มนอกธนาคารผ่านพันธมิตรทางธุรกิจด้วย

“ในปี’64 ธนาคารปล่อยสินเชื่อออนไลน์ โดยเป็นสินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับและสินเชื่อ SSME ที่มียอดเบิกใช้กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 60% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนปัจจัยลบที่ต้องติดตาม คือ การระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลโดยตรงต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้ากลุ่มนี้”

ก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ประกาศความร่วมมือกับ บมจ.แอนวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (AIS) โดยตั้งบริษัทร่วมทุน AISCB เพื่อรุกปล่อยสินเชื่อดิจิทัล (digital lending) โดยนายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของกลุ่มบริษัท SCBX ภายใต้แผน 5 ปี (2565-2569) เพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ไปอยู่ที่ระดับ 15-20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 8% ซึ่งการไปสู่เป้าหมายดังกล่าวจะต้องสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลใหม่ของธนาคาร เพื่อมุ่งสู่ digital banking

โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.สินเชื่อดิจิทัล (digital lending) การอนุมัติสินเชื่อโดยการใช้ข้อมูลที่มีอยู่ หรือ big data และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ในเชิงพฤติกรรม เพื่อให้การอนุมัติสินเชื่อได้แม่นยำ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุด ซึ่งจะช่วยสร้างฐานลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น และ 2.เทคโนโลยีแพลตฟอร์ต เช่น โรบินฮู้ด (Robinhood) เป็นต้น

แบงก์กรุงเทพขยายฐานลูกค้า
นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปล่อยสินเชื่อออนไลน์เดิมทำค่อนข้างจำกัด แต่ในปี 2565 ธนาคารจะขยายกลุ่มลูกค้าที่มีกระแสเงินสด (cash flow) หมุนเวียนค่อนข้างดี เช่น ร้านค้าซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce) และธุรกิจขนาดย่อม (SSME) ส่วนหนึ่งรองรับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจะดูจากข้อมูลกระแสเงินสดและข้อมูลทางเลือก (alternative data) โดยทุกอย่างจะเป็นออนไลน์ จากเดิมจะเน้นยื่นคำขอสินเชื่อ แต่ในปีนี้จะเป็นออนไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบ

“ปีนี้เราจะขยายไปสู่กลุ่มพ่อค้าแม่ร้านค้าออนไลน์ และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้บริการของธนาคาร โดยเราจะเอาข้อมูลที่มีอยู่มาช่วยวิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ให้ลูกค้า”

สมรภูมิสินเชื่อดิจิทัลเดือด
นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางการปล่อยสินเชื่อ digital lending ปีนี้ ประเมินว่ายังคงเห็นการแข่งขันดุเดือด โดยหลายบริษัททั้งรายเดิมและรายใหม่ต่างหันมาพัฒนาช่องทางการปล่อยสินเชื่อผ่านทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารเพื่อให้การขอสินเชื่อมีความสะดวก และเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของลูกค้า ทำให้ในมุมของผู้แข่งขันในตลาดนี้จะมีมากขึ้น

“ความต้องการสินเชื่อมีอยู่ต่อเนื่อง เพราะลูกค้าต้องการสภาพคล่อง สะท้อนจากปริมาณยอดคำขอสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าหากสถานการณ์เศรษฐกิจคลี่คลาย ตลาดน่าจะขยายตัวมากขึ้น”

สำหรับแผนธุรกิจปีนี้ของ LINE BK ตั้งเป้าเติบโตสอดคล้องกับภาวะตลาดและความเสี่ยง โดยมีการปรับกลุยทธ์และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีฐานลูกค้าใหม่อยู่ที่ 3.9 ล้านคน และเป็นลูกค้าสินเชื่อประมาณ 5 แสนบัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเข้ามาช่วยประคอง แต่กำลังซื้อและรายได้ของภาคประชาชนยังกลับมาไม่ปกติ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

“ปีนี้เราคงเห็นสังเวียนในแง่ผู้เล่นเข้ามาในตลาดนี้ดุเดือดขึ้น ซึ่งย้ายจากตลาดการปล่อยสินเชื่อปกติมาสู่ออนไลน์มากขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยง ดูทิศทางเศรษฐกิจที่อาจจะมีการเปิดและปิดตามการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้เร่งปล่อยสินเชื่อได้มาก แต่หวังว่าสถานการณ์คลี่คลาย ตลาดน่าจะกลับมาโตได้มากกว่านี้”

นางสาวศุภนีวรรณ จูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงพัฒนาระบบ digital lending ทั้งบริการสมัครสินเชื่อด้วยตัวเองผ่าน K PLUS และ LINE BK เพื่อช่วยให้ลูกค้าที่เป็นคนตัวเล็กเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ธนาคารต้องการสร้างความเท่าเทียมทางการเงิน หรือ financial inclusion ให้เกิดขึ้น เพื่อให้คนตัวเล็กมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายและสะดวกขึ้น ลดความเสี่ยงจากการต้องไปกู้นอกระบบ

“กสิกรฯ” ปักหมุดปล่อยกู้ดิจิทัล
ก่อนหน้านี้ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้ประกาศเป้าหมายทางการเงินปี 2565 ตั้งเป้าการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ 6-8% จากกลุ่มลูกค้าบุคคลและกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ การร่วมมือกับพันธมิตร และการเติบโตสินเชื่อในภูมิภาค AEC+3

CIMB T ขยายสินเชื่อผ่านแอป
ขณะที่ นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ภายใต้กลยุทธ์ Forward23+ โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอาเซียน และ digital platform เพื่อจะก้าวเป็น “ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล” ซึ่งปีนี้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อภาพรวมอยู่ที่ 5-8%

สำหรับแผนการเติบโตในกลุ่มธุรกิจรายย่อยจะเน้นใช้ดิจิทัล และแอปพลิเคชั่น CIMB THAI Digital Banking ในการขยายฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี รวมถึงแผนการขยายไปสู่สินเชื่อดิจิทัล

SABUY ฮุบกลุ่ม “โอมันนี่”
นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกับกลุ่มบริษัทโอมันนี่ (OMoney) ด้วยมูลค่าไม่เกิน 50,000,000 บาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าถือหุ้น 100% ใน 3 บริษัท ในกลุ่มบริษัทโอมันนี่

ประกอบไปด้วย บริษัท โอมันนี่ กรุงเทพ จำกัด (OMB) บริษัท โอมันนี่ ปทุมธานี จำกัด (OMP) และบริษัท โอมันนี่ สมุทรสาคร จำกัด (OMS) ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดพร้อมทั้งมีระบบสินเชื่อดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบ HR payroll สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อ pico finance ได้ทันที

อีกทั้งระบบ digital lending สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจสินเชื่ออื่น ๆ ของบริษัทได้ นอกจากนี้ กลุ่มโอมันนี่มี MOU กับผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีฐานลูกค้ากว่า 4 แสนราย ซึ่งจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าใน SABUY Ecosystem ทั้งยังต่อยอดกับธุรกิจและบริการทางการเงินอื่น ๆ รวมไปถึงการเปิดช่องทางเข้าถึงลูกค้าที่เป็นลูกจ้างโรงงาน และแรงงานต่างด้าว

7 ยักษ์ธุรกิจชิงดิจิทัลพีโลน
อนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (ดิจิทัลพีโลน) ไปทั้งสิ้น 7 ราย โดยมี 4 รายที่เริ่มประกอบธุรกิจแล้ว ได้แก่ 1.บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด บริษัทในเครือ SEA GROUP บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้”

2.บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด เป็นหนึ่งในธุรกิจการเงินในเครือทรู มันนี่ 3.บริษัท แรบบิท แคช จำกัด ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กับ “แรบบิท กรุ๊ป” ในเครือบีทีเอส และ “ฮิวแมนิก้า” 4.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)

ส่วนอีก 3 รายอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเทคโนโลยีและโมเดล ประกอบด้วย 1.บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด บริษัทในเครือแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย 2.บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี และ 3.บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งหากทั้ง 3 บริษัทพัฒนาระบบเทคโนโลยีเป็นไปตามที่กำหนด คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในต้นปี 2565 นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการสนใจยื่นขออนุญาตเข้ามาอีกหลายราย

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance