รีวิว The Matrix Resurrections 
The Matrix 4 : Resurrections (2021) เดอะ เมทริกซ์ เรเซอเร็คชั่นส์

ทิ้งห่าง ‘The Matrix’ ภาคแรกมาร่วม 22 ปีสำหรับภาคต่อของหนังที่มาปฏิวัติวงการภาพยนตร์ช่วงเข้ายุค 2000 แต่การกลับมาครั้งนี้ของ ‘The Matrix Resurrections’ หลังผ่านไป 2 ทศวรรษที่องค์ความรู้เรื่องเมตาเวิร์สที่เคยเป็นแค่จินตนาการกำลังเกิดขึ้นจริงและการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์แบบในหนังภาคแรกก็ดูไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปดังนั้นมันจึงน่าสนใจว่าคราวนี้ ลานา วาชอว์สกี (Lana Wachowski) จะยังคิดค้นอะไรใหม่ ๆ ให้เราได้ว้าวอีกหรือเปล่า

หนังใช้เวลาช่วงแรกไปกับการแนะนำตัวละครใหม่อย่างบั๊กส์ (แสดงโดย เจสสิกา เฮนวิค Jessica Henwick) ที่ลักลอบแฮ็กเข้าสู่เดอะแมทริกซ์เพื่อดูเหตุการณ์ที่ทรินีตีหลบหนีเหล่าเอเจนต์และเธอก็ได้พบความจริงว่านีโอ (แสดงโดย คีอานู รีฟส์ Keanu Reeves) ยังมีชีวิตอยู่ โดยเขาใช้ชื่อโธมัส แอนเดอร์สัน นักออกแบบเกมเดอะแมทริกซ์ที่กำลังต้องเริ่มโปรเจกต์เกมภาค 4 จนกระทั่งเขาได้พบกับมอร์เฟียส (รับบทโดย ยายาห์ อับดุล-มาทีนที่ 2 Yahya Abdul-Mateen II) และบั๊กส์ที่พาเขากลับสู่โลกความจริงอีกครั้ง แต่ในเมื่อทรีนิตี (รับบทโดย แครี-แอนน์ มอสส์ Carrie-Anne Moss) ยังติดอยู่ในแมทริกซ์นีโอจำต้องออกรบอีกครั้งเพื่อปลดปล่อยคนรักของเขา

ก่อนอื่นเราคงต้องบอกกันตรง ๆ ล่ะนะครับว่าบทหนังของ ‘The Matrix Resurrections’ ไม่ได้เอาใจคนที่ไม่เคยดูหรือรู้จักกับโลกของ ‘The Matrix’ มาเลย เพราะมันเล่าเรื่องต่อจากหนังภาค 3 อย่าง ‘The Matrix Revolutions’ ที่ฉายไปตั้งแต่ปี 2003 ข้อมูลหลายอย่างทั้งเดอะแมทริกซ์คืออะไรหรือชุมชนไซออนคืออะไร เซนตินัลคืออะไร อันนี้คนดูต้องรู้อยู่แล้ว

แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ไม่คิดว่าลานา วาชอว์สกีจะทำก็คือการเอาภาพฟุตเทจของหนังทั้ง 3 ภาคมาแทรกไปตลอดการดำเนินเรื่องเพื่อให้คนดูต่อติดว่าหนังกำลังจะเดินเรื่องเชื่อมโยงกับหนังภาคเก่า ๆ เพราะบทหนังที่ลานาไปลาก เดวิด มิตเชลล์ (David Mitchell) คนแต่งนิยาย ‘Cloud Atlas’ ที่เคยดัดแปลงบทหนังให้เธอ และยังมาร่วมงานกับอเล็กซานเดอร์ เฮมอน (Aleksandar Hemon) เขียนบท ‘Sense8’ ซีรีส์ดรามาเชื่อมจิตทาง Netflix มาเขียนบท ‘The Matrix Resurrections’ ภาคนี้ ซึ่งต้องบอกว่ามีแนวคิดหลายอย่างที่หนังกล้าหาญที่จะ “เล่น” ตัวเองและวิพากษ์ว่า ‘The Matrix’ คืออะไรกันแน่

นั่นเลยทำให้หนังครึ่งแรกเต็มไปด้วยบทสนทนาที่จะต้องปูทั้งอาชีพของนีโอที่เป็นคนออกแบบเกมและชีวิตใหม่ของทรินิตี รวมไปถึงที่มาของเหล่ากลุ่มกบฏใหม่ที่มีนีโอเป็นไอดอล รวมไปถึงที่มาของมอร์เฟียสคนใหม่ที่หนังให้ ยายาห์ อับดุล-มาทีนที่ 2 ล้อเลียนแอ็กติงของ ลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น (Laurence Fishburne) อย่างคึกคะนองเลย ต้องเดินหน้าด้วยความเร็วเหมือนรถติดบนทางด่วนที่เห็นจุดหมายข้างหน้าไปไหนไม่ได้ แถมยังมีฟุตเทจหนังไตรภาคแรกมาตอกย้ำอีกว่าบทหนังที่พยายามคงไว้ทั้งปรัชญา ความเป็นแอ็กชันไซไฟ หรือฉากโชว์กังฟูยังไม่อาจเทียบเคียงกับหนัง 3 ภาคแรกได้เลย

และเช่นเดียวกันสิ่งที่หนังเพิ่มเข้ามาอย่างฉากการถกเถียงกันของทีมพัฒนาเกมที่มุ่งหาความหมายของเดอะแมทริกซ์ ก็ยิ่งทำให้คนที่ไม่เคยดูหนังสับสนเสียเปล่า ๆ และผม “กล้าสปอยล์” เลยว่าฉากหลังเอนด์เครดิตลานายังเลือกให้เราเสียเวลารอดูเครดิตยาว ๆ เพื่อฉากที่ไม่ได้มีประโยชน์ในการเล่าเรื่องนี้อีก ส่วนตัวเลยคิดว่าหากบทหนังสามารถแทรกแนวคิดใหม่ ๆ เข้าไปในเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกันกว่านี้น่าจะดูฉลาดกว่า เสียดายฝีมือทีมเขียนบทเปล่า ๆ

สิ่งที่พอจะมาชดเชยความผิดบาปในหนังครึ่งแรกได้คงหนีไม่พ้นตอนที่นีโอไปโผล่ในโลกความเป็นจริงแล้ว เพราะต่อจากนั้นหนังก็ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเล่าเรื่องจริง ๆ ทั้งการได้ไปสู้รบปรบมือกับวายร้ายรายใหม่อย่าง นักวิเคราะห์ (รับบทโดย นีล แพทริก แฮริส Neil Patrick Harris) และเอเจนต์สมิธ (รับบทโดยโจนาธาน โกรฟฟ์ Jonathan Groff) ที่ดูเหนือกว่าทุกทางจะเพิ่มความตื่นเต้นให้หนังได้บ้าง

หรือการได้รู้จักกับชุมชนไอโอ ชุมชนที่มนุษย์และเหล่าเซนเทียนต์หรือจักรกลฝ่ายดีร่วมงานกันสร้างสังคมยุคใหม่ แม้การได้เห็น จาดา พินเคตต์-สมิธ (Jada Pinkett Smith) เมกอัปเป็นไนโอบีตอนแก่จะดูเจ็บปวดไปหน่อย แถมบทของเธอก็แทบไม่เป็นชิ้นเป็นอันก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ยังส่งให้เรื่องเดินต่อไปถึงภารกิจช่วยเหลือทรีนิตีที่มีการดีไซน์ฉากแอ็กชันได้ใหญ่โตสมกับเป็นฉากฟินาเล่ ดีแต่ในภาพรวมก็ยังไม่มีฉากไหนที่น่าประทับใจหรือเป็นฉากจำเหมือนหนังต้นฉบับอยู่ดี

ว่ากันถึงนักแสดงหากตัดคีอานู รีฟส์กับแครี-แอนน์ มอสส์ออกจากหนังเราจะพบว่าบทหนังแทบไม่ส่งให้ใครเป็นตัวดำเนินเรื่องได้เลย แม้แต่เจสสิกา เฮนวิค สาวสวยจากซีรีส์ ‘Iron Fist’ และหนัง ‘Love and Monsters’ ที่อุตส่าห์ได้บทบั๊กส์ สาวผมสีฟ้าสักลายกระต่ายที่แขนหนังก็ยังไม่ได้ให้บทบาทเธอชัดเจนเพราะหลังจากเจอนีโอแล้ว บทบั๊กก็ถูกผลักเป็นตัวประกอบทันที รวมถึงการขนทัพนักแสดงหนุ่มสาวหน้าตาดีจากซีรีส์ ‘Sense8’ ที่วาชอว์สกีเป็นโชว์รันเนอร์ ก็ยังไม่มีใครมีบทบาทโดดเด่นสักคนเลยทำให้ ‘The Matrix Resurrections’ ยังไม่มีศักยภาพพอจะเป็นหนังเปิดไตรภาคใหม่ได้เท่าไหร่นัก

แต่กระนั้นหนังก็ยังมีความดีอยู่บ้างโดยเฉพาะงานคอสตูมดีไซน์ที่ได้ ลินด์เซย์ พิว (Lindsay Pugh) มาออกแบบเสื้อผ้าให้หนัง ซึ่งเธอก็กล้าใส่สีสันเข้าไปในชุดนักแสดงมากขึ้น ที่โดดเด่นมากคือซีนที่ไปโผล่ในห้องพักที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสที่เธอเลือกสูทแดงเขียวให้ ยายาห์ อับดุล-มาทีนที่ 2 และสูทดำแอบแซ่บให้ เออแรนดิรา อีบารา (Eréndira Ibarra) สาวสวยจากซีรีส์ ‘Sense 8’ ที่ถือว่าเป็นฉากที่น่าจดจำมากสำหรับงานคอสตูมดีไซน์ รวมถึงแว่นตาที่คราวนี้ได้ ทอม เดวีส์ (Tom Davies) มาออกแบบแว่นตาเก๋ ๆ ให้ตัวละครซึ่งก็ต้องยอมรับว่าออกจากโรงหนังแล้วเสิร์ชหาว่ามีขายที่ไหนแทบไม่ทันจริง ๆ (ฮ่าาาา)

สรุปแล้ว ‘The Matrix Resurrections’ ยังไม่อาจเป็นภาคต่อของ ‘The Matrix’ ที่น่าพอใจนัก ทั้งวัดจากการสานต่อตำนานจากไตรภาคแรก หรือการรีบูตเพื่อเริ่มเรื่องใหม่ ด้วยท่าทีการเล่าเรื่องที่ยังไม่เด็ดขาดว่าจะหักล้างตรรกะของหนังภาคเก่าหรือสานต่อโลกของหนังมาเล่าต่อแล้วแนะนำตัวละครใหม่ มีเพียงฉากแอ็กชันแปลกตา งานออกแบบเสื้อผ้าและเรื่องราวของนีโอกับทรินิตีที่ยังพอรั้งไม่ให้คนดูหลุดสู่เดอะแมทริกซ์แบบไทย ๆ ที่เรียกว่า “ไปเฝ้าพระอินทร์”

ข้อมูลอ้างอิง

Beartai ข่าวไอที วิทยาการ มือถือ เทคโนโลยี ภาพยนตร์ ไลฟ์สไตล์ รีวิว แบไต๋