“ทิพยกรุ๊ปโฮลดิ้งส์” เล็งแยกบริษัทลูก (Spin-Off) หากพอร์ตประกันรถยนต์มีเบี้ยประกันรับ 8,000 ล้านบาทขึ้นไป พร้อมเล็งศึกษาสร้างอู่ซ่อมรถยนต์ เครือข่ายคล้ายโรงพยาบาลโรงแรม ให้ประชาชนเลือกใช้บริการ เปิดกลยุทธ์ก้าวสู่ Next Generation Insurer
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทิพยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์(TIPH) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย(TIP) เปิดเผยในงานแถลงข่าวประจำปีว่า ในปี 2564 เราได้มีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นไปสู่การเป็น บมจ.ทิพยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์(TIPH) ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นอย่างก้าวกระโดด ตามความหวังของแผนธุรกิจ TIPH ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้น TIPH ปรับเพิ่มขึ้นอย่างเหนือความคาดหมายในช่วงที่ผ่านมา
โดยหลังจากจัดตั้ง TIPH เพียง 1 เดือน บริษัทได้จัดตั้งบริษัท ทิพย ไอเอสบี จำกัด (TIP ISB) เพื่อประกอบธุรกิจลงทุนในธุรกิจที่สนับสนุนธุรกิจประกันภัย (Insurance Supported Business) ด้วยทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 1 ล้านบาท โดยมีบริษัทถือหุ้น 99.99% ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท อะมิตี้ อินชัวร์รันซ์ โบรคเกอร์ จำกัด หรือ Amity สัดส่วน 75% จากผู้ถือหุ้นเดิม มูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 54.88 ล้านบาท และเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท ดีพี เซอร์เวย์ แอนด์ลอว์ จำกัด หรือ DP Survey สัดส่วน 75% จากผู้ถือหุ้นเดิม ด้วยมูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 115.97 ล้านบาท
นอกจากนี้แผนการลงทุนในปี 2565 เร่งดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อกิจการของบริษัทประกันภัย เพื่อรองรับการแยกหน่วยธุรกิจประกันภัยที่มีศักยภาพของบริษัทในกลุ่มออกเป็นบริษัทประกันภัยใหม่ (Spin-Off) อย่างน้อย 2 บริษัทในปีนี้ ในรูปแบบของบริษัทประกันภัยดิจิทัล 100% แห่งแรกของประเทศไทย และบริษัททิพยประกันภัยตะกาฟุล (Takaful) แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อขายสินค้าให้กลุ่มชาวมุสลิม รวมทั้งการตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีสำหรับกลุ่มธุรกิจประกันภัย 100% หรือ Technology Company for Insurance Business แห่งแรกของประเทศไทย ให้เกิดขึ้นภายในปีนี้
นอกจากนี้อยู่ระหว่างการศึกษาที่จะเซต garage หรืออู่ซ่อมรถยนต์ขึ้นมา ซึ่งในอนาคตจะเปรียบเสมือนเครือข่ายของโรงพยาบาลหรือโรงแรม เพราะฉะนั้นประชาชนผู้ใช้บริการจะเกิดความมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าไม่ว่ารถจะเกิดอุบัติเหตุ ซ่อมเครื่องยนต์หรืออะไหล่สามารถเลือกใช้บริการตรงนี้ได้ ขณะเดียวกันหากพอร์ตธุรกิจประกันภัยที่มีเบี้ยประกันภัยรับมากเพียงพอ เช่น พอร์ตประกันภัยรถยนต์(Motor) ระดับ 8,000 ล้านบาทขึ้นไป เราก็จะ Spin-Off ออกไปเป็นอีก 1 บริษัทประกันภัยด้วย เพื่อให้มีความชำนาญและเชี่ยวชาญเฉพาะ ปัจจุบันมีเบี้ยประกันอยู่ที่ระดับกว่า 6,000 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของเบี้ยรับรวมกว่า 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้รวมถึงพอร์ตประกันอุบัติเหตุและสุขภาพเช่นเดียวกันด้วย
ดร.สมพร กล่าวอีกว่า ในปี 65 ประเทศไทยกำลังทะยานขึ้นสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เราได้วางแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ โดยมีบริษัททิพยประกันภัยเป็นเรือธงหลักของ TIPH และแม้จะเป็นปีที่มีความท้าทายที่หลากหลายมาก ทั้งการเจริญเติบโตของตลาดประกันวินาศภัย กฎเกณฑ์หน่วยงานกำกับดูแลฯ ด้านข้อมูลส่วนบุคคล(PDPA) และการเปลี่ยนกฎกติกาควบคุมแบบกรมธรรม์ใหม่ๆ และการเข้าสู่สังคมสูงวัย นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือภาวะโลกร้อน(global warming) ซึ่งทำให้เกิดภัยพิบัติใหญ่รุนแรงเกิดขึ้นในทั่วทุกภูมิภาคของโลกรวมถึงไทยด้วย
และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ที่ส่งผลให้บริษัทต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้ตามทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ในประเทศไทย และหุ่นยนต์ใช้ในบ้าน และการโอนเงินโดยไม่ผ่านตัวกลางหรือธนาคาร หรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอีคอมเมิร์ซ เช่น การซื้อขายออนไลน์ แต่ได้สินค้าไม่ตรงปก เป็นต้น
“ปัจจุบันเรามีสินค้า เรามีความเสี่ยงจากสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และกลายเป็นสินค้าที่สามารถเอาประกันภัยได้ เช่น NFT รูปภาพออริจินัลที่มีมูลค่ามหาศาล ล้วนจะเป็น Insurance product ที่เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นทั้งหมดนี่ล้วนเป็นโอกาสของธุรกิจประกันวินาศภัย ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ด้านการประกันภัยใหม่ๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรค(painpoint) ของประชาชนในยุคนี้” ดร.สมพร กล่าว
ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าต่อไปสินค้าประกันจะไม่เป็น “stand alone product” อีกต่อไปแล้ว แต่หลังจากนี้กรมธรรม์ประกันภัยจะถูกฝังตัวเข้าไปอยู่ในบริการ
ดร.สมพร กล่าวถึงแนวทางการวางกลยุทธ์ธุรกิจว่า เรากำลังจะก้าวสู่ Next Generation Insurer หรือเรียกว่า new era insurer ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนไป ใช้ระบบ Ai หรือ Block chain และจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การใช้ API มาเป็นตัวช่วยให้เราเกิดการเชื่อมต่อได้จากต้นทางถึงปลายทางได้ตลอด
สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันเป็นรายบุคคลได้มากขึ้น โดยต้องวิเคราะห์ข้อมูล(Data Analytics) ในการสร้างกรมธรรม์ประกันได้ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีการแบบดั้งเดิมได้อีกแล้วว่าลูกค้าชอบอะไร ขณะเดียวกันเราต้องสร้างระบบ omni-channel ให้เกิดขึ้นให้ได้เพื่อตอบโจทย์การเป็น Next Generation Insurer
ตอนนี้เรามีคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีคู่แข่งที่ไม่ใช่บริษัทประกันวินาศภัย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายอย่างมหาศาล โดยเราได้จัดตั้ง Tip innovative solution studio โดยรวบรวมพนักงานเด็กรุ่นใหม่ มาร่วมสร้างสรรค์และแก้ painpoint ของลูกค้าว่าสิ่งที่คนยุคใหม่ต้องการเกี่ยวข้องกับประกันภัยน่าจะมีอะไรบ้าง
ขณะเดียวกันดำเนินนโยบายเชิงรุก Groundbreaking Change ในทุกมิติ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลักคือ 1.การสร้างสรรค์กลยุทธ์การตลาดที่ล้ำสมัย (Create Cutting Edge Marketing Approach) โดยจะมุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์ให้ได้รับการยอมรับเป็นแบรนด์แห่งนวัตกรรม พัฒนาการสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าด้วยการนำเทคโนโลยีทางการตลาดแทนรูปแบบการทำการตลาดแบบเดิม
รวมถึงนวัตกรรมแห่งอนาคตที่มีโลกเสมือน (Virtual) เชื่อมโยงเข้าสู่โลกแห่งความจริง รวมถึงการร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิตของลูกค้าได้ครบวงจร
2.การออกแบบหรือสร้างประสบการณ์การทำประกันภัยให้กับลูกค้ารูปแบบใหม่ (Reinvent Customer Experience) โดยทิพยประกันภัย มุ่งเน้นการยกระดับการให้บริการตลอดทั้ง Insurance Value Chain ด้วยเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าของผู้บริโภคและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าองค์กร และลูกค้ารายย่อย
3.การนำทางไปสู่องค์กรสร้างนวัตกรรมในระดับที่พลิกโฉม และ Disrupt ธุรกิจเดิมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน (Pave the Way for Breakthrough Innovation & Sustainability) บริษัทมุ่งเน้นเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาประเทศ และสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนควบคู่กับสังคมตลอดไป
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance